ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ม.5

ถ้าพี่อยากให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาเกิดเร็วขึ้นต้องทำยังไงกันนะ? มีน้อง ม.5 คนไหนบอกพี่ได้บ้าง? พี่กัปตันมีสรุปมาให้น้อง ม.5 ทุกคนได้ดูกันนั่นก็คือ “ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยา” นั่นเอง ถ้าอยากรู้ว่ามีกี่ปัจจัยและมีอะไรบ้าง น้อง ม.5 ตามพี่ไปดูกันเลยย

ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยา มี 5 ปัจจัยด้วยกันครับ ได้แก่

  1. ธรรมชาติของสารตั้งต้น
  2. พื้นที่ผิว
  3. ความเข้มข้น
  4. อุณหภูมิ
  5. ตัวเร่งปฏิกิริยา/ตัวหน่วง

น้องกำลังสงสัยกันใช่มั้ยละครับว่าแล้วแต่ละปัจจัยจะส่งผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาอย่างไร เราไปดูกันต่อเลยยย

1. ธรรมชาติของสารตั้งต้น

เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงพันธะ หากสารตั้งต้นมีโครงสร้างที่ซับซ้อน มีพันธะที่แข็งแรงมาก จะทำให้เกิดปฏิกิริยาหรือการสลายตัวได้ยาก ดังนั้นจีงมีอัตราการเกิดปฏิกิริยาที่ช้ากว่ากว่าสารตั้งต้นที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนหรือพันธะที่แข็งแรงน้อยกว่านั่นเอง

2. พื้นที่ผิว

สารตั้งต้นที่มีขนาดเล็ก ละเอียด หรือมีพื้นที่ผิวมากจะเพิ่มโอกาสในการชนกันของอนุภาค ดังนั้นก็จะมีอัตราการเกิดปฏิกิริยาที่เร็วกว่าสารที่มีพื้นที่ผิวน้อย

3. ความเข้มข้น

สารที่มีความเข้มข้นมากจะเพิ่มโอกาสในการชนของอนุภาคมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้มีอัตราการเกิดปฏิกิริยาเร็วกว่าสารที่มีความเข้มข้นน้อยนั่นเอง

4. อุณหภูมิ

อุณหภูมิที่สูงจะทำให้สารตั้งต้นมีพลังงานจลน์เพิ่มขึ้น โอกาสในการชนกันของอนุภาคก็จะมากและแรงขึ้น ดังนั้นอัตราการเกิดปฏิกิริยาก็จะเร็วขึ้นมากกว่าอุณหภูมิต่ำ

5. ตัวเร่งปฏิกิริยา/ตัวหน่วง

ตัวเร่งปฏิกิริยา การเติมตัวเร่งจะทำให้การชนกันของอนุภาคชนถูกทิศทางมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดพลังงานก่อกัมมันต์ของปฏิกิริยาได้อีกด้วยครับ ก็จะทำให้สารตั้งต้นของเราสามารถเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้นนั่นเอง

และสุดท้ายคือตัวหน่วง หากเราใส่ตัวหน่วงเข้าไปจะส่งผลต่อพลังงานก่อกัมมันต์ของปฏิกิริยาที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเกิดปฏิกิริยานั้นเกิดได้ยากขึ้น

จบไปแล้วนะครับกับ 5 ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยา ถ้าน้อง ม.5 คนไหนยังไม่เข้าใจก็อย่าลืมกลับไปทบทวนและลองทำโจทย์กันดูนะครับ บอกเลยว่าเรื่องนี้แบบฝึกหัดและข้อสอบไม่ยากเลย พี่เชื่อว่าน้องๆของพี่ทำกันได้แน่นอน แล้วเดี๋ยวเรามาเจอกันในบทความต่อไปนะครับ
#เคมีจะไม่ยากถ้าพวกเราเปิดใจ