น้อง ม.3 ม.4 และ ม.5 ใครอยากเป็นหมอ วิศวกร เภสัช หรือนักวิทยาศาสตร์ ห้ามพลาดบทความ เส้นทางพิชิต สู่เด็กโอลิมปิกวิชาการ นี้เลย น้องคงสงสัยกันใช่ไหมว่า แล้วการสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ เกี่ยวข้องอะไรกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย พี่ขอบอกเลยว่า
ปัจจุบันการสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามระบบ TCAS รอบ 1 Portfolio มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดรับน้อง ๆ ที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิชาการ ยิ่งถ้าน้องเคยเข้าค่าย สอวน. หรือเคยได้รับรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ โอกาสที่น้องจะสอบติดในคณะที่อยากเข้าก็ยิ่งมีโอกาสสูง สิทธิพิเศษดีขนาดนี้ กว่าจะมาเป็นเด็กโอลิมปิกวิชาการก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เช่นกัน เส้นทางพิชิต…สู่เด็กโอลิมปิกวิชาการ จะเป็นยังไงบ้าง มาเตรียมวิ่งไปพร้อมกับน้องอิเล็กตรอนสีแดง กันเลย ถ้าพร้อมแล้ว 3 2 1 Let’s go!!
จากเส้นทางการวิ่งแข่งของน้องอิเล็กตรอนสีแดง น้อง ๆ จะเห็นว่า กว่าน้องอิเล็กตรอนสีแดงจะพิชิตสนามสอบโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ ต้องผ่านทั้งการเข้าค่าย สอวน.ค่าย 1, สอวน. ค่าย 2, สอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ เมื่อได้เป็นตัวแทนระดับชาติ ก็ต้องไปต่อที่การเข้าค่ายเก็บตัวของ สสวท. ค่าย 1 สสวท. ค่าย 2 และคัดเลือกตัวแทนเพื่อไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ 4 – 6 คน โดยใช้เวลารวมแล้วประมาณ 2 ปี
อ่านมาถึงจุดนี้น้องหลายคนคงกำลังเริ่มท้อ รู้สึกว่าไม่ไหว พี่อยากบอกว่า น้องอย่าเพิ่งถอดใจ ลองเปิดใจให้ตัวเองลองสอบได้เลย การที่น้องได้เข้าค่าย สอวน. เพียงค่าย 1 ค่ายเดียว น้องจะเหมือนได้เปิดโลกใหม่ ได้ความรู้เชิงลึกมาขึ้น ได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ สิ่งที่น้องอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน ให้น้องเข้าใจได้ภายในการเข้าค่าย สอวน. สุดท้ายนี้ ถ้าน้องตั้งใจ พี่เชื่อว่าไม่ว่าหนทางจะเจอหนามกุหลาบมากแค่ไหน น้องจะผ่านไปได้ เธอทำได้ ว่าที่เด็ก สอวน. ค่าย 1 ของพี่ทุกคน